วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ตามรอยไปรษณีย์ไทย...

ตามรอยไปรษณีย์ไทยที่ " พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน  "
          สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน Blog ก่อนหน้าเราได้นำเสนอในเรื่องนิทรรศการออนไลน์กันไป Blog นี้เราจะพาผู้อ่านทุกท่านไปพบกับนิทรรศการนอกสถานที่กัน ที่นั่นคือ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน
          พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน ตั้งอยู่ในชั้นสองของอาคารไปรษณีย์สามเสนใน ด้านหลังที่ทำการไปรษณีย์สามเสนใน เป็นสถานที่สำคัญในการรวบรวมประวัติความเป็นมาของการไปรษณีย์ไทยและแสตมป์ยุคเริ่มแรก ตั้งแต่การก่อกำเนิดแสตมป์ดวงแรกของโลกที่ประเทศอังกฤษ และการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย 
          ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงดวงตราไปรษณียากรตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2426 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีถึงกว่า 800 ชุด  แสตมป์ถูกจัดเก็บอยู่ในตู้กระจกแบบพิเศษที่ทำเป็นคล้ายหน้าต่างหลายๆบานซ้อนกันอยู่ และเรียงลำดับตามปีพุทธศักราช ใครอยากดูปีไหนชุดไหน ก็กดไปที่หน้าต่างแล้วดึงออกมา

         ในตู้แสดงแสตมป์เหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแสตมป์ไทยเท่านั้น แต่ยังรวบรวมแสตมป์จากทั่วโลกกว่า 200 ประเทศที่เข้าร่วมสหภาพสากลไปรษณีย์ (The Symbol of Universal Union) ประเทศที่เข้าร่วมสหภาพนี้ก็จะจัดส่งแสตมป์ชุดใหม่ๆ จากประเทศตัวเองมาแลกเปลี่ยนกันทุกปี ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีรูปแบบและสีสันของแสตมป์แตกต่างกันไป แสตมป์จากประเทศต่างๆ ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรมประเพณี และประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศโดยเล่าผ่านพื้นที่เล็กๆ เหล่านี้อีกด้วย 
          สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ หุ่นที่ใส่เสื้อผ้าของบุรุษไปรษณีย์ในยุคต่างๆ ตั้งแต่ยุคโบราณสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ยังใส่โจงกระเบน จนในยุคต่อๆ มาที่เริ่มใส่กางเกงแบบตะวันตกแล้ว หุ่นเหล่านี้ตั้งอยู่ตามมุมห้องต่างๆ 


           นอกจากส่วนจัดแสดงต่างๆ ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีห้องสมุดที่ให้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับแสตมป์ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศมากมาย นักสะสมแสตมป์ที่ต้องการรวบรวมความรู้ก็สามารถมาเริ่มต้นได้ที่นี่ 
           สำหรับคนที่หลงไหลแสตมป์แต่ไม่มีเวลาไปซื้อหา เจ้าหน้าที่บอกว่าสามารถสมัครเป็นสมาชิกเงินฝากเพื่อสะสม และสมัครสมาชิกวารสารตราไปรษณียากรได้ จ่ายเงินเป็นรายปีไว้ เมื่อมีแสตมป์ชุดใหม่ๆ ออกมาก็จะจัดส่งไปให้ถึงบ้านหรือสามารถสั่งจองแสตมป์ชุดพิเศษได้ก่อนใครๆ อีกด้วย 
           สิ่งที่พลาดไม่ได้คือ ที่ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ฯ มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนที่จะเปลี่ยนเรื่องราวไปตามวันสำคัญต่างๆ และมีแสตมป์ชุดพิเศษสำหรับโอกาสนั้นๆ มาแสดงด้วย 


           ในส่วนของนิทรรศการหมุนเวียนที่จัดขึ้นในวันที่พวกเราไปในวันที่ 13 กรกฎาคม 2556 คือ นิทรรศการสามศิลป์ไม่กินกัน คือ งานศิลป์ช่างหลวง งานศิลป์พื้นบ้าน งานศิลป์ร่วมสมัย



พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร (สามเสนใน) 

อาคารสำนักงานการสื่อสารไปรษณีย์นครหลวงเหนือ หลังที่ทำการไปรษณีย์สามเสนใน ถ.พหลโยธิน
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
เปิดวันพุธ-อาทิตย์ หยุดวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่าง 08.30-16.30 น.
0-2271-2439, 0-2831-3722
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดยหน่วยงานราชการ
ก่อตั้งปี 2516 

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คุณรู้จักนิทรรศการออนไลน์กันหรือไม่?

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เราขอนำเสนอในเรื่องนิทรรศการออนไลน์ค่ะ
            นิทรรศการ คือ การจัดแสดงข้อมูล รวมไปถึงเนื้อหาต่างๆ จัดทำด้วยวัสดุ สิ่งของ และอุปกรณ์ต่างๆ และมีการผสมผสานกิจกรรมต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน นิทรรศการมาจากภาษาอังกฤษ คำว่า Exhibition ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Display แปลว่าการจัดแสดง ซึ่งในประเทศไทยได้จัดนิทรรศการอย่างเป็นทางการครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 นิทรรศการแบ่งได้เป็นระดับเล็ก ระดับปานกลาง ไปจนถึงระดับใหญ่ ในระดับใหญ่ขนาดระดับชาติจะเรียกว่า Exposition
            หลักในการจัดนิทรรศการที่ต้องคำนึง คือ
1. วัตถุประสงค์
2. ผู้ชมหรือกลุ่มเป้าหมาย 
3. เนื้อหา
4. ขนาดของนิทรรศการ
5. ค่าใช้จ่าย
6. ระยะเวลา
            ต่อมาเรามาพูดถึงนิทรรศการออนไลน์กันดีกว่าค่ะ นิทรรศการออนไลน์นั้นมีความคล้ายกับนิทรรศการที่จัดขึ้นทั่วๆไป แต่สิ่งที่แตกต่างกันนั่นก็คือ สถานที่จัดแสดงค่ะ ซึ่งการจัดแสดงจะอยู่บนเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้ชมสามารถรับชมออนไลน์ผ่านทางคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา
            เราจะนำเสนอนิทรรศการออนไลน์ให้ผู้อ่านได้เห็นเป็นตัวอย่างกันค่ะ ลองกดเข้าไปรับชมตามลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลย J

            นิทรรศการออนไลน์ที่เราได้เลือกนำเสนอนี้เป็นเรื่องนิทรรศการ 12 สิงหา จัดอยู่ในเว็บไซต์หอสมุดของมหาวิทยาลัยบรูพา นำเสนอเรื่องราวของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื้อเรื่องแบ่งเป็น รักแรกพบ พระราชพิธีทรงหมั้น ทรงเป็นแบบอย่างของครู การอ่านหนังสือ รางวัลเกียรติยศ คุณธรรมความเป็นครู การหาครูมาสอน และการพัฒนา
           ผู้อ่านจะเห็นได้ว่ารูปแบบการจัดนิทรรศการออนไลน์นั้นเป็นแบบใด อย่างเช่นตัวอย่างนี้มีการจัดข้อความและรูปภาพที่สวยงาม มีการเลือกใช้สีได้อย่างเหมาะสมค่ะ เมื่อทราบอย่างนี้แล้วผู้อ่านสามารถเข้าชมนิทรรศการออนไลน์ได้ตามความสนใจ ไม่ต้องเดินทางไปสถานที่จริงแต่สามารถได้รับความรู้อย่างครบถ้วนค่ะ J