วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

TECHNO SHOWCASE ก้าวล้ำนำการศึกษา

       15 – 16 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา พวกเรานิสิตชั้นปีที่ 4 เอกเทคโนโลยีสื่อสารการศึกษา ได้จัดนิทรรศการขึ้น ที่ชั้น 1 อาคารนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยในงานแบ่งออกเป็น 8 บูธ คือ
1. Do you hear me? เป็นบูธที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดรายการวิทยุเพื่อการศึกษา
2. Tech for teach เป็นบูธที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำสื่อการเรียนการสอน
3. Around the world เป็นบูธที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโซเชียลมีเดียกับการศึกษา
4. Away so far เป็นบูธที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนทางไกล
5. X – ploring tech for fun เป็นบูธที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเกมการศึกษา
6. Read me please เป็นบูธที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์
7. See snap เป็นบูธที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพ
8. Now you see me เป็นบูธที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา



       ซึ่งแต่ละบูธได้นำเสนอ และให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้ามาร่วมงานกันอย่างเต็มที่ การจัดนิทรรศการครั้งนี้เป็นหนึ่งในรายวิชา DISPLAY AND EXHIBITION TECHNIQUES ซึ่งเราได้ประจำอยู่ที่บูธ Now you see me กับเพื่อนๆอีก 4 คน การจัดนิทรรศการนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย เพราะทุกคนต้องเตรียมงานกันอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการจัดและออกแบบพื้นที่ภายในบูธว่าควรจะเป็นเช่นไร การทำโปสเตอร์ การออกแบบกิจกรรมที่จะจัดขึ้น การเตรียมรางวัลว่าในช่วงไหนควรจะมอบรางวัลแบบใด การเตรียมความรู้ให้กับผู้ที่จะเข้ามาร่วมงาน เป็นต้น ซึ่งในวันแรกที่เราได้จัดนิทรรศการนั้นก็มีบางช่วงที่ไม่เป็นไปตามแผนที่เราเตรียมไว้ ดังนั้นเราก็ต้องช่วยกันแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าทันที คือเปลี่ยนกิจกรรมที่จัดขึ้นให้มีความเหมาะสม ตกเย็นในกลุ่มก็มาช่วยกันนั่งคิดและเตรียมงานที่จะจัดในวันรุ่งขึ้น เตรียมแผนสำรองไว้เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ต่างๆที่อาจไม่ตรงตามแผนที่วางไว้ เมื่อประชุมกลุ่มเสร็จก็มีการประชุมรวมทุกกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด เล่าสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและช่วยกันเสนอแนะให้เพื่อนกลุ่มอื่นๆด้วย การจัดนิทรรศการในวันที่2 ของกลุ่ม Now you see me มีความราบรื่นกว่าวันแรก อาจเพราะพวกเรามีประสบการณ์แล้วก็เป็นได้ มีผู้เข้ามาร่วมกิจกรรมมากขึ้นกว่าวันแรก เพราะพวกเราได้ปรับแผนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น เมื่อมีผู้เข้ามาร่วมงานน้อยในช่วงนั้นและเขาไม่อยาก Workshop เป็นพิธีกรรายการข่าวกับเรา เราก็ใช้วิธีให้เขาเล่นเกมแทน ถ่ายภาพแล้วเช็คอินเพื่อโปรโมตนิทรรศการของเรา หรือแจกกระดาษใบเล็กให้เขาไปอ่านโปสเตอร์แล้วสรุปความรู้ที่ได้รับ เป็นต้น  เมื่อการจัดนิทรรศการเสร็จสิ้นลง พวกเราทั้ง 45 คนก็ได้ประชุมสรุปผลการจัดนิทรรศการร่วมกับอาจารย์ ซึ่งผลที่ได้รับนั้นเกินคาดเพราะมีผู้สนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 1,000 คน นอกจากนี้มีคนได้เขียน Blog เกี่ยวกับนิทรรศการที่พวกเราจัดขึ้นในครั้งนี้ด้วย เมื่ออ่านแล้วทำให้ผู้จัดงานอย่างพวกเรามีความสุข รู้สึกและสัมผัสได้ว่าสิ่งที่ช่วยกันทำนั้นมันเกิดผลดีมากเพียงใด  :D







วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ตามรอยไปรษณีย์ไทย...

ตามรอยไปรษณีย์ไทยที่ " พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน  "
          สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน Blog ก่อนหน้าเราได้นำเสนอในเรื่องนิทรรศการออนไลน์กันไป Blog นี้เราจะพาผู้อ่านทุกท่านไปพบกับนิทรรศการนอกสถานที่กัน ที่นั่นคือ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน
          พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน ตั้งอยู่ในชั้นสองของอาคารไปรษณีย์สามเสนใน ด้านหลังที่ทำการไปรษณีย์สามเสนใน เป็นสถานที่สำคัญในการรวบรวมประวัติความเป็นมาของการไปรษณีย์ไทยและแสตมป์ยุคเริ่มแรก ตั้งแต่การก่อกำเนิดแสตมป์ดวงแรกของโลกที่ประเทศอังกฤษ และการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย 
          ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงดวงตราไปรษณียากรตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2426 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีถึงกว่า 800 ชุด  แสตมป์ถูกจัดเก็บอยู่ในตู้กระจกแบบพิเศษที่ทำเป็นคล้ายหน้าต่างหลายๆบานซ้อนกันอยู่ และเรียงลำดับตามปีพุทธศักราช ใครอยากดูปีไหนชุดไหน ก็กดไปที่หน้าต่างแล้วดึงออกมา

         ในตู้แสดงแสตมป์เหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแสตมป์ไทยเท่านั้น แต่ยังรวบรวมแสตมป์จากทั่วโลกกว่า 200 ประเทศที่เข้าร่วมสหภาพสากลไปรษณีย์ (The Symbol of Universal Union) ประเทศที่เข้าร่วมสหภาพนี้ก็จะจัดส่งแสตมป์ชุดใหม่ๆ จากประเทศตัวเองมาแลกเปลี่ยนกันทุกปี ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีรูปแบบและสีสันของแสตมป์แตกต่างกันไป แสตมป์จากประเทศต่างๆ ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรมประเพณี และประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศโดยเล่าผ่านพื้นที่เล็กๆ เหล่านี้อีกด้วย 
          สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ หุ่นที่ใส่เสื้อผ้าของบุรุษไปรษณีย์ในยุคต่างๆ ตั้งแต่ยุคโบราณสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ยังใส่โจงกระเบน จนในยุคต่อๆ มาที่เริ่มใส่กางเกงแบบตะวันตกแล้ว หุ่นเหล่านี้ตั้งอยู่ตามมุมห้องต่างๆ 


           นอกจากส่วนจัดแสดงต่างๆ ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีห้องสมุดที่ให้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับแสตมป์ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศมากมาย นักสะสมแสตมป์ที่ต้องการรวบรวมความรู้ก็สามารถมาเริ่มต้นได้ที่นี่ 
           สำหรับคนที่หลงไหลแสตมป์แต่ไม่มีเวลาไปซื้อหา เจ้าหน้าที่บอกว่าสามารถสมัครเป็นสมาชิกเงินฝากเพื่อสะสม และสมัครสมาชิกวารสารตราไปรษณียากรได้ จ่ายเงินเป็นรายปีไว้ เมื่อมีแสตมป์ชุดใหม่ๆ ออกมาก็จะจัดส่งไปให้ถึงบ้านหรือสามารถสั่งจองแสตมป์ชุดพิเศษได้ก่อนใครๆ อีกด้วย 
           สิ่งที่พลาดไม่ได้คือ ที่ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ฯ มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนที่จะเปลี่ยนเรื่องราวไปตามวันสำคัญต่างๆ และมีแสตมป์ชุดพิเศษสำหรับโอกาสนั้นๆ มาแสดงด้วย 


           ในส่วนของนิทรรศการหมุนเวียนที่จัดขึ้นในวันที่พวกเราไปในวันที่ 13 กรกฎาคม 2556 คือ นิทรรศการสามศิลป์ไม่กินกัน คือ งานศิลป์ช่างหลวง งานศิลป์พื้นบ้าน งานศิลป์ร่วมสมัย



พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร (สามเสนใน) 

อาคารสำนักงานการสื่อสารไปรษณีย์นครหลวงเหนือ หลังที่ทำการไปรษณีย์สามเสนใน ถ.พหลโยธิน
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
เปิดวันพุธ-อาทิตย์ หยุดวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่าง 08.30-16.30 น.
0-2271-2439, 0-2831-3722
ไม่เก็บค่าเข้าชม
บริหารจัดการโดยหน่วยงานราชการ
ก่อตั้งปี 2516 

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คุณรู้จักนิทรรศการออนไลน์กันหรือไม่?

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เราขอนำเสนอในเรื่องนิทรรศการออนไลน์ค่ะ
            นิทรรศการ คือ การจัดแสดงข้อมูล รวมไปถึงเนื้อหาต่างๆ จัดทำด้วยวัสดุ สิ่งของ และอุปกรณ์ต่างๆ และมีการผสมผสานกิจกรรมต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน นิทรรศการมาจากภาษาอังกฤษ คำว่า Exhibition ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Display แปลว่าการจัดแสดง ซึ่งในประเทศไทยได้จัดนิทรรศการอย่างเป็นทางการครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 นิทรรศการแบ่งได้เป็นระดับเล็ก ระดับปานกลาง ไปจนถึงระดับใหญ่ ในระดับใหญ่ขนาดระดับชาติจะเรียกว่า Exposition
            หลักในการจัดนิทรรศการที่ต้องคำนึง คือ
1. วัตถุประสงค์
2. ผู้ชมหรือกลุ่มเป้าหมาย 
3. เนื้อหา
4. ขนาดของนิทรรศการ
5. ค่าใช้จ่าย
6. ระยะเวลา
            ต่อมาเรามาพูดถึงนิทรรศการออนไลน์กันดีกว่าค่ะ นิทรรศการออนไลน์นั้นมีความคล้ายกับนิทรรศการที่จัดขึ้นทั่วๆไป แต่สิ่งที่แตกต่างกันนั่นก็คือ สถานที่จัดแสดงค่ะ ซึ่งการจัดแสดงจะอยู่บนเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้ชมสามารถรับชมออนไลน์ผ่านทางคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา
            เราจะนำเสนอนิทรรศการออนไลน์ให้ผู้อ่านได้เห็นเป็นตัวอย่างกันค่ะ ลองกดเข้าไปรับชมตามลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลย J

            นิทรรศการออนไลน์ที่เราได้เลือกนำเสนอนี้เป็นเรื่องนิทรรศการ 12 สิงหา จัดอยู่ในเว็บไซต์หอสมุดของมหาวิทยาลัยบรูพา นำเสนอเรื่องราวของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื้อเรื่องแบ่งเป็น รักแรกพบ พระราชพิธีทรงหมั้น ทรงเป็นแบบอย่างของครู การอ่านหนังสือ รางวัลเกียรติยศ คุณธรรมความเป็นครู การหาครูมาสอน และการพัฒนา
           ผู้อ่านจะเห็นได้ว่ารูปแบบการจัดนิทรรศการออนไลน์นั้นเป็นแบบใด อย่างเช่นตัวอย่างนี้มีการจัดข้อความและรูปภาพที่สวยงาม มีการเลือกใช้สีได้อย่างเหมาะสมค่ะ เมื่อทราบอย่างนี้แล้วผู้อ่านสามารถเข้าชมนิทรรศการออนไลน์ได้ตามความสนใจ ไม่ต้องเดินทางไปสถานที่จริงแต่สามารถได้รับความรู้อย่างครบถ้วนค่ะ J






วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2556

MY MAGAZINE.

@CURVE

         ชั่วโมงแรกๆที่เรียนกับอาจารย์ในเทอมนี้ อาจารย์ได้ให้พวกเราจับสลาก เพื่อแบ่งกลุ่มทำงาน ความรู้สึกของดิฉันและเพื่อนๆ ทุกคนแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนว่าตื่นเต้น ลุ้น กังวล ฯลฯ ว่าตัวเองนั้นจะได้อยู่กลุ่มกับใคร ซึ่งดิฉันเข้าใจจุดประสงค์ของอาจารย์ อาจารย์อยากให้เราได้ทำงานกับเพื่อนๆ ตามที่เราจับสลากได้ ได้ทำงานกับเพื่อนคนอื่นๆที่เราอาจไม่เคยทำงานร่วมกับเขามาก่อน ซึ่งในตอนแรกใครๆก็ยังมีความคิดแบบเดิมๆว่าอยากทำงานกับเพื่อนที่ตนเองสนิท แต่เมื่ออาจารย์ได้กำหนดระบบการเรียนในเทอมนี้ว่าต้องเป็นแบบนี้นะ ทุกคนก็ค่อยๆยอมรับในกฎกติกานี้  กลุ่มที่ดิฉันจับได้คือ เบอร์9 สมาชิกทั้งหมดมี 5 คน ประกอบด้วย ส้ม บิว ขวัญ เฟริน บูม J

 งานชิ้นใหญ่ ชิ้นสุดท้าย คือการทำนิตยสาร นิตยสาร 1 เล่ม ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย พวกเราได้ประชุมงานกันเป็นระยะๆ มีการโหวต Theme ของหนังสือกัน แต่เมื่อทุกอย่างลงตัว สรุป Theme ได้ว่า กลุ่มเราจะทำนิตยสารเกี่ยวกับวัยรุ่นที่ นอกกรอบแต่ไม่นอกคอก จากนั้นได้ช่วยกันคิดว่าจะมีเนื้อหาอะไรบ้าง เมื่อตกลงและแบ่งงานกันเรียบร้อยแต่ละคนก็ไปเขียนคอลัมน์ที่ตนเองรับผิดชอบมา เมื่อเนื้อหาครบก็เริ่มวาง Layout ซึ่งดิฉันได้รับผิดชอบ คอลัมน์กิน เที่ยว และสุขภาพ ค่ะ ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการรวมเล่ม ช่วยกันตรวจดูความเรียบร้อยของงาน

        การทำนิตยสารครั้งนี้ได้สอนอะไรดิฉันหลายๆอย่าง ที่สำคัญเลยคือ ความรอบคอบ ” ถ้าขาดข้อนี้ไปงานที่ออกมาจะไม่สมบูรณ์ 100% ซึ่งนิตยสารเล่มนี้เมื่อพิมพ์ออกมาแล้วก็ยังมีข้อผิดพลาดในเรื่องของคำถูกคำผิด ซึ่งดิฉันเองได้รับหน้าที่พิสูจน์อักษรร่วมกันกับเพื่อน แต่คอลัมน์ตนเองก็ยังมีคำผิด อ่านแล้วรู้สึกว่าพลาดมาก แต่ ณ จุดนี้มันไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว เราต้องยอมรับกับความผิดพลาดครั้งนี้ และจะจำไว้เป็นบทเรียนเพื่อนำไปแก้ไขในการทำงานครั้งต่อๆไป เพื่อให้งานมีความสมบูรณ์มากที่สุด


       เมื่อวานดิฉันได้โพสลงกรุ๊ปในเฟสบุ๊คบอกเพื่อนในความผิดพลาด เพื่อนจะโกรธส้มไหม ส้มเช็คคำผิดยังไม่รอบคอบ 100% เลย อ่านไปยังเจอคำผิด แม้แต่คอลัมน์ของส้มเองก็ยังมีผิดอีก   ไม่นานนักบูมได้มาโพสตอบว่าไม่โกรธจ้า สมาชิกที่เหลือในกลุ่มกดไลค์บูม มันทำให้ดิฉันรู้สึกสบายใจที่เพื่อนๆในกลุ่มไม่ซีเรียสกับความผิดพลาดตรงนี้ และยังให้กำลังใจกัน J


       สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณอาจารย์นัทธีรัตน์ พีระพันธุ์ ที่ให้คำปรึกษาในการทำนิตยสารครั้งนี้ด้วยค่ะ